Menu Close

การใช้ยางรถยนต์ กระทะล้อ การเติมลม การเก็บรักษา การเปลี่ยนยาง

ยางรถยนต์และกระทะล้อคำแนะนำทั่วไปเกี่ยวกับการใช้ยางของ ลพบุรีรวมยาง

>>ยางทั่วไป

การใช้ยางที่ถูกต้อง

1. ควรเลือกประเภท โครงสร้างและขนาดของยางที่ใช้ ให้เหมาะสมกับชนิดของยานพาหนะ สภาพการใช้   งาน สภาพพื้นผิวถนน และเป็นไปตามคำแนะนำของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ เช่น ไม่ควรใช้ยางสำหรับรถยนต์นั่ง กับรถกระบะ รถตู้ เป็นต้น

2. น้ำหนักบรรทุกต่อยางแต่ละส้นในแต่ละตำแหน่งล้อ ต้องไม่เกินความสามารถในการรับน้ำหนักของยาง (ค่าดัชนีการรับน้ำหนัก)

3. เพื่อการใช้งานอย่างปลอดภัย ไม่ควรใช้ความเร็วเกินกว่าขีดจำกัดความเร็วสูงสุดของยาง

4. เพื่อให้ยางมีอายุการใช้งานยาวนาน ควรสลับตำแหน่งยางอย่างสม่ำเสมอ

5. ในกรณีที่ใช้ยางใน หรือยางรอง ต้องใช้ยางใน หรือยางรองที่ระบุขนาดตรงกับยางนอกเท่านั้น และต้องเปลี่ยนยางในและ/หรือยางรอง ทุกครั้งที่เปลี่ยนยางนอก

6. ยางที่ใช้ในยางใน ( TUBE TYPE) ต้องใช้ยางในทุกครั้ง และห้ามใช้ยางในกับยางที่ไม่ใช้ยางใน       ( TUBELESS )

7. ในกรณียางใหม่ ควรเตรียมความพร้อมของยาง โดยการวิ่งด้วยความเร็วไม่เกิน 60 กม./ช.ม. เป็นระยะทางอย่างน้อย 200 กม. หรือ วิ่งด้วยความเร็วไม่เกิน 50 กม./ช.ม. เป็นระยะทางอย่างน้อย 300 กม. ก่อนการใช้งานปกติ

8. ห้ามใช้ยางที่สึกหรอจนถึงจุดที่กำหนด ( TREADWEAR INDICATOR )

9. ศูนย์ล้อและช่วงล่างของรถยนต์ต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด โดยบริษัทรถยนต์และต้องหมั่นตรวจสอบในเวลาที่เหมาะสม

การใช้ยางต่างประเภท

การใช้ยางต่างประเภท หรือต่างขนาดในเพลาเดียวกัน จะทำให้สูญเสียสมรรถนะการขับขี่ รวมถึงการทรงตัวและการเบรก เนื่องจากคุณสมบัติที่แตกต่างกันและการแปรสภาพของยางขณะขับขี่

การเติมลมยาง

1. ปัญหายางส่วนใหญ่มักเกิดจากการเติมลมยางที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งส่งผลเสียต่อสมรรถนะการขับขี่และอายุการใช้งานของยาง ดังนั้น ควรเติมลมยางให้ตรงกับมาตรฐานที่กำหนด

2. เพื่อความปลอดภัยและเพื่อให้ได้ค่าความดันลมยางที่ถูกต้อง ควรทำการปรับความดันลมยางในขณะที่ยางอยู่ในอุณหภูมิปกติ

3. ในกรณีที่ขับทางไกลและวิ่งด้วยความเร็วสูง ควรเพิ่มความดันลมยางให้มากกว่ามาตรฐาน 3-5 ปอนด์/ตารางนิ้วเพื่อป้องกันการเกิดความร้อนสูงอันเนื่องมาจากการบิดตัวของโครงยาง

4. โปรดใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษขณะเติมลมยาง เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในขณะเติมลม

5. ควรหมั่นตรวจวัดความดันลมยาง, การรั่วซึมของความดันลมยางและการปิดฝาวาล์วให้แน่นอย่างสม่ำเสมอ

6. การเติมความดันลมยางสำหรับการขึ้นนั่งขอบกระทะล้อของขอบยางรถยนต์นั่งต้องไม่เกิน 3.0 กก./ตร.ซม.

7. คำแนะนำเกี่ยวกับการเติมความดันลมยางจากผู้ผลิตรถยนต์จะติดอยู่บริเวณประตูรถยนต์หรือในหนังสือคู่มือการใช้รถ

การเก็บรักษายาง

เพื่อให้ยางที่ยังไม่ได้นำไปใช้งาน มีประสิทธิภาพดีอยู่เสมอ ควรปฏิบัติดังนี้

  1. ป้องกันการสัมผัสกับสิ่งต่างๆที่อาจทำอันตรายต่อยาง เช่น ตะปู ของมีคม น้ำทัน สารเคมีต่างๆ
  2. ป้องกันวัตถุแปลกปลอมจากภายนอกหรือน้ำเข้าไปในท้องยาง
  3. หลีกเลี่ยงการเก็บยางในบริเวณที่มีแสงแดดส่องถึง
  4. เก็บยางให้ห่างจากความร้อนหรือประกายไฟ
  5. แยกประเภทของยางให้ชัดเจน จัดวางในแนวตั้งและมีแสงสว่างเพียงพอ หากวางซ้อนกันให้ปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด

การเปลี่ยนยาง

1. ก่อนทำการเปลี่ยนยาง แนะนำให้เลือกยางที่เหมาะสม โดยดูจากขนาด อัตราชั้นผ้าใบเทียบเท่าความสามารถในการรับน้ำหนักและความเร็วสูงสุดของยางเดิมที่ประกอบมาจากดรงงานประกอบรถยนต์

2. ตรวจสอบความผิดปกติ ความเสียหายของยางและกระทะล้อ อีกทั้งตรวจสอบสิ่งแปลกปลอมก่อนทำการประกอบยาง

3. หลังจากการประกอบยาง ควรตรวจสอบระยะห่างระหว่างเส้นขอบยางกับขอบกระทะล้อให้มีความสม่ำเสมอตลอดวงล้อ

4. ในกรณียางที่ใช้ยางใน ( TUBE TYPE ) เมื่อเปลี่ยนยางนอกใหม่ควรเปลี่ยนยางในและยางรองใหม่ทุกครั้ง

5. ในกรณียางที่ไม่ใช้ยางใน ( TUBELESS ) เมื่อเปลี่ยนยางใหม่ควรเปลี่ยนวาล์ว ซีลวาล์ว และแกนวาล์วใหม่ทุกครั้ง

6. ควรตรวจสอบความเรียบร้อยของผลิตภัณฑ์ทุกชนิดก่อนนำไปประกอบ

7. ผู้ทำการประกอบยางควรเป็นบุคคลที่ได้รับการฝึกอบรมมาโดยเฉพาะเท่านั้น

8. โปรดใช้ความระมัดระวังในการขับขี่เพื่อให้เกิดความเคยชินสำหรับกรณีการเปลี่ยนประเภทหรือขนาดของยางที่ต่างไปจากเดิม

>> ในกรณียางหล่อดอก

  1. ยางหล่อดอกที่ใช้ยางใน หรือยางรอง ต้องใช้ยางใน หรือยางรอง ที่ระบุขนาดตรงกับยางนอก
  2. กรณียางล้อคู่ ควรใช้ยางหล่อดอกที่มีขนาดและประเภทเดียวกันและมีความลึกร่องดอกใกล้เคียงกัน ( ยางหล่อดอกที่มีขนาดเดียวกันหมายถึงยางที่หล่อดอกโดยใช้โครงยางเดิมและลายดอกเหมือนกัน )
  3. โครงยางรถบรรทุกและรถโดยสารที่ผ่านการใช้งานมาแล้วย่อมมีสภาพแตกต่างกับยางใหม่ทั้งนี้ความคงทนของโครงยางขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งานและการดูแลรักษาลมยางเป็นสำคัญ
  4. การใช้ยางหล่อดอกจ่างประเภท หรือต่างขนาดในเพลาเดียวกันจะส่งผลเสียต่อสมรรถนะการขับขี่อย่างรุนแรง รวมถึงการทรงตัวและการเบรก เนื่องจากคุณสมบัติที่แตกต่างกัน และการแปรสภาพของยางขณะขับขี่
  5. ห้ามนำยางหล่อดอกไปใช้ในตำแหน่งล้อหน้า

คำเตือน!

  1. ต้องใช้ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางกระทะล้อให้ตรงกับขนาดของยาง
  2. ไม่ควรใช้น้ำยาเคลือบเงาและ/หรือน้ำยาหล่อลื่นที่ใช้กับยางและ/หรือกระทะล้อทาบริเวณหน้ายางเพราะอาจก่อให้เกิดการลื่นผิดปกติ
  3. โปรดหลีกเลี่ยงการใช้งานในขณะที่ลมยางอ่อน
  4. ควรลดความเร็วและเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่ ขณะถนนเปียกมีสิ่งกีดขวาง หรือถนนขรุขระ
  5. ควรหมั่นตรวจสอบสภาพของยางอย่างสม่ำเสมอ
  6. ในกรณียางที่เกิดความชำรุดเสียหาย ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนนำไปใช้งาน
  7. ในกรณีที่จอดรถไว้เป็นระยะเวลานาน โดยไม่มีการเคลื่อนย้ายอาจเป็นสาเหตุทำให้โครงยางเกิดความเสียหาย ดังนั้น ก่อนการนำไปใช้งาน ควรตรวจสอบเป็นพิเศษ
  8. ควรหลีกเลี่ยงการออกรถ เร่งความเร็ว การเลี้ยวหรือการหยุดรถโดยกะทันหันซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ยางรถยนต์
  9. ควรตรวจสอบสภาพและความดันลมยางของยางอะไหล่อย่างสม่ำเสมอ
  10. ในกรณีที่ขณะขับขี่เกิดการสั่นของพวงมาลัย ได้ยินเสียง การสั่นหรือรู้สึกได้ถึงสิ่งผิดปกติอื่นๆให้หยุดรถในสถานที่ที่ปลอดภัยโดยเร็วที่สุดและทำการตรวจสอบรถยนต์และยางว่ามีการเสียรูปหรือสิ่งผิดปกติอื่นๆที่ยางหรือไม่ ทั้งนี้ให้ท่านนำรถยนต์ของท่านเข้ารับการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญอีกครั้งถึงสิ่งผิดปกติดังกล่าว
  11. การทำเครื่องหมายใดๆที่ยางควรทำในจุดที่กำหนดโดยบริษัทยางรถยนต์เท่านั้น
  12. โปรดหลีกเลี่ยงการใช้ยางที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ
  13. โปรดศึกษาข้อมูลการใช้ยาง และคำเตือนเพิ่มเติมจากลากแผ่นพับ และคู่มือ

>> ในกรณียางรันแฟลต

  1. ยางรันแฟลตต้องใช้กับรถยนต์ที่ติดตั้งยางรันแฟลตและระบบตรวจวัดความดันลมยาง         ( TPMS ) ซึ่งติดตั้งมาจากโรงงานประกอบรถยนต์เท่านั้น
  2. การเลือกใช้กระทะล้อสำหรับยางรันแฟลต ควรเลือกใช้กระทะล้อที่ออกแบบมาสำหรับ ยางรันแฟลต
  3. รถยนต์ที่ติดตั้งยางรันแฟลตควรปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ผลิตรถยนต์เท่านั้น
  4. หากพบความชำรุดเสียหายของยาง โปรดศึกษาคู่มือประจำรถยนต์ ในกรณีที่คู่มือประกอบรถยนต์ระบุให้สามารถซ่อมแซมยางรันแฟลตที่ติดตั้งมาจากโรงงานประกอบรถยนต์ได้ ควรติดต่อศูนย์บริการมาตรฐานที่ผ่านการรับรองการให้บริการยางรันแฟลตเพื่อพิจารณารับการซ่อมแซม
  5. รถยนต์ที่ติดตั้งยางรันแฟลตมาจากโรงงานประกอบรถยนต์ห้ามใช้ยางที่ไม่ใช่ยางรันแฟลต

ข้อควรปฏิบัติเมื่อสูญเสียความดันลมยาง

  1. ภายหลังจากการสูญเสียความดันลมยางที่ระบบตรวจวัดความดันลมยางเตือน ห้ามใช้ความเร็วเกิน 80 กม./ช.ม. และระยะทางสูงสุดที่ 80 กม. หรือปฏิบัติตามคำแนะนำในคู่มือของผู้ผลิตรถยนต์
  2. ระยะทางสูงสุดที่สามารถขับขี่ได้เมื่อสูญเสียความดันลมยางที่ระบบตรวจวัดความดันลมยางเตือนนั้น อาจลดลงได้ในบางกรณี เช่นการขับขี่ภายใต้สภาพอากาศร้อน เป็นต้น
  3. เมื่อที่สูญเสียความดันลมยางที่ระบบตรวจวัดความดันลมยางเตือนให้ติดต่อศูนย์บริการมาตรฐานที่ผ่านการรับรองการให้บริการยางรันแฟลต

คำแนะนำทั่วไปเกี่ยวกับการใช้กระทะล้อ/กระทะล้ออะลูมิเนียมอัลลอย   (Rim/Alloy Wheel General Directions)

*แยกเป็นกระทะล้ออะลูมิเนียมอัลลอยสำหรับรถยนต์นั่ง รถบรรทุกขนาดเล็กและรถขับเคลื่อนสี่ล้อ ( Alloy Wheel ) กับ กระทะล้อ (Rim) สำหรับรถบรรทุกและรถโดยสารขนาดใหญ่ โดยจะเรียกรวมกันว่า กระทะล้อ*

การใช้กระทะล้อที่ถูกต้อง

1. ควรเลือกชนิดและขนาดของกระทะล้อ ให้เหมาะสมกับมาตรฐานและการใช้งานของยานพาหนะ

2. ไม่ควรบรรทุกน้ำหนักเกินความสามารถสูงสุดในการรับน้ำหนักของกระทะล้อตามที่กำหนด

3. เพื่อการใช้งานอย่างปลอดภัย ไม่ควรขับขี่ยานพาหนะเกินกว่าขีดจำกัดความเร็วสูงสุดของยางตามที่กำหนด

4. เพื่อให้กระทะล้อมีอายุการใช้งานได้ยาวนาน หมั่นตรวจสอบดูแลกระทะล้อเป็นประจำ รวมไปถึงการตรวจสอบค่าความดันลมยางที่เหมาะสมอยู่เสมอ

5. เลือกกระทะล้อที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากสถาบัน หรือสมาคมทดสอบยานยนต์   เช่น JWL,JWL-T และ VIA เป็นต้น

6. ควรเลือกประเภทและขนาดของกระทะล้อให้เหมาะสมกับขนาดของยาง

7. ควรเลือกค่าออฟเซทของกระทะล้อให้เหมาะสมกับยานพาหนะคันนั้นๆ

8. ใช้กระทะล้อที่มีชนิดและขนาดเดียวกันในทุกตำแหน่งเพลาล้อ การใช้กระทะล้อต่างประเภทกันในเพลาเดียวกัน หรือ ต่างเพลากันจะส่งผลเสียต่อสมรรถนะในการขับขี่ รวมไปถึงการทรงตัวและการเบรก เนื่องจากคุณสมบัติที่แตกต่างกัน

การดูแลบำรุงรักษา

กระทะล้อในปัจจุบันมีผู้ผลิตสินค้าสู่ตลาดมากมาย แม้การผลิตจะให้ประสิทธิภาพและคุณภาพดีเยี่ยมเพียงใดก็ตาม ถ้าผู้ใช้รถไม่ดูแลกระทะล้ออย่างถูกต้องแล้ว ก็ทำให้ได้รับประสิทธิภาพไม่เต็มที่และทำให้เกิดความเสียหายก่อนกำหนด ดังนั้น กระทะล้อรถยนต์จะให้ประโยชน์คุ้มค่าทุกด้านอย่างเต็มที่ ก็ขึ้นอยู่กับการใช้อย่างถูกต้องเช่นกัน

  1. ตรวจสอบลมยางและปรับความดันลมยางให้ถูกต้องตามอัตราที่กำหนดเป็นประจำในขณะที่ยางยังเย็นอยู่ เพื่อสมรรถนะที่ดีในการขับขี่ และยืดอายุการใช้งานของกระทะล้อและยางให้มีอายุยาวนาน
  2. เพื่อป้องกันลมรั่วซึมที่จุ๊ปวาล์ว ควรเปลี่ยนจุ๊ปวาล์วและแกนจุ๊ปวาล์วทุกครั้งที่เปลี่ยนยางใหม่ และควรมีฝาปิดวาล์วตลอดเวลา
  3. ในกรณีการล้างรถ ห้ามใช้สารเคมีที่มีผลกับสีที่ผิวของกระทะล้อ ( สำหรับกรณีกระทะล้ออะลูมิเนียมอัลลอย ควรใช้อุปกรณ์ล้างรถและน้ำยาชนิดเดียวกันกับที่ล้างตัวรถ)

การเก็บรักษากระทะล้อ

เพื่อให้กระทะล้อที่ยังไม่ได้นำไปใช้งาน มีสภาพดีอยู่เสมอ และประสิทธิภาพของล้อไม่ลดลง     การเก็บรักษากระทะล้อควรปฏิบัติดังนี้

  1. ป้องกันสิ่งของหรือวัตถุต่างๆที่ทำอันตรายต่อกระทะล้อ
  2. ป้องกันน้ำเปียกชื้นบริเวณที่จัดเก็บกระทะล้อ
  3. หลีกเลี่ยงการเก็บกระทะล้อในบริเวณที่มีแสงแดดส่องถึงโดยตรง
  4. ป้องกันน้ำมันต่างๆที่จะสัมผัสกับกระทะล้อ
  5. เก็บกระทะล้อให้ห่างจากความร้อนหรือประกายไฟ
  6. ทำการแยกประเภทของกระทะล้อให้ชัดเจน เพื่อความสะดวกในการขนย้าย
  7. สำหรับกรณีกระทะล้ออะลูมิเนียมอัลลอย ควรวางกระทะล้ออะลูมิเนียมอัลลอยซ้อนกันตามจำนวนที่กำหนด
  • ● กล่องบรรจุแบบ 1 วง วางซ้อนกันไม่เกิน 6 กล่อง
  • ● กล่องบรรจุแบบ 2 วง วางซ้อนกันไม่เกิน 3 กล่อง

* กระทะล้อสำหรับรถบรรทุกและรถโดยสารขนาดใหญ่ ( Rim ) ไม่ควรวางซ้อนกันโดยเด็ดขาด*

คำเตือนในการประกอบกระทะล้อเข้ากับยางและรถยนต์

  1. ตรวจสอบสภาพของกระทะล้อและชิ้นส่วนอุปกรณ์ทุกชิ้นเพื่อให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์พร้อมใช้งาน
  2. ในกรณีกระทะล้อที่เคยผ่านการใช้งานมาแล้ว ก่อนทำการประกอบเข้ากับยางควรตรวจสภาพความสมบูรณ์ของกระทะล้อ ทำความสะอาดล้อทั้งภายในและภายนอกล้อ

ข้อควรคำนึงในการทำความสะอาด :

  • ● สำหรับกระทะล้ออะลูมิเนียมอัลลอย ให้ทำความสะอาดด้วยน้ำเปล่าและเช็ดให้แห้ง
  • ● สำหรับกระทะล้อสำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ ทำความสะอาดด้วยน้ำมันก๊าด หรือน้ำสบู่ แล้วเช็ดให้แห้ง

3. ใช้สารหล่อลื่นบริเวณขอบยางและขอบกระทะล้อทุกครั้งเมื่อถอดประกอบกระทะล้อกับยาง

4. ควรตรวจสอบหน้าแปลนของกระทะล้อและหน้าแปลนของดุมล้อให้อยู่ในสภาพที่พร้อมสมบูรณ์     ก่อนการประกอบกระทะล้อ

5. ในการประกอบล้อเข้ากับดุมล้อควรใช้แรงในการขันน็อตที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อกระทะล้อและน็อตล้อ

6. ควรขันน็อตล้อเข้ากับดุมล้อแบบทแยงมุม เพื่อความสมดุลระหว่างหน้าแปลนกับดุมล้อ

7. ห้ามใช้แผ่นหนุนกระทะล้อ ( Spacers ) เพื่อหลีกเลี่ยงผลเสียที่จะเกิดกับกระทะล้อและรถ

8. ถ่วงล้อทุกครั้งที่มีการถอด หรือ ประกอบกระทะล้อกับยาง และทำการตั้งศูนย์ทุกครั้งเมื่อนำกระทะล้อที่ประกอบเข้ากับยางเรียบร้อยแล้ว มาประกอบเข้ากับตัวรถยนต์

9. ยางและกระทะล้อที่ถูกขนาดนั้น เมื่อประกอบเข้ากับตัวรถแล้วจะต้องไม่เกิดการสัมผัสกับชิ้นส่วนใดๆในตัวรถ

10. ภายหลังการประกอบกระทะล้อและยางเข้ากับตัวรถแล้วตรวจสอบอีกครั้งว่า ยื่นออกนอกบังโคลนหรือไม่

11. ตรวจสอบการรั่วซึมของลมยางหลังการประกอบทุกครั้ง

12. กระทะล้ออะลูมิเนียมอัลลอยจะต้องใช้กับยางรถยนต์ชนิดยางเรเดียลเส้นลวดเท่านั้น

●●●●●●●●●●●●